Skip to content
Home » การวางแผนการเงินคืออะไร

การวางแผนการเงินคืออะไร

การวางแผนการเงินคืออะไร?

การวางแผนการเงินคืออะไร

ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพก็เหมือนกับการจัดทริปเดินทางท่องเที่ยวไกลๆ สักที่หนึ่ง นั่นหมายความว่า เราจะต้องรู้ว่า ณ ปัจจุบันเราอยู่ตรงไหน และเรามีจุดหมายปลายทางหรือเป้าหมายของการเดินทางเป็นที่แห่งใด เพื่อที่จะค้นหาวิธีการเดินทางไปให้ถึงจุดหมายนั้นๆ

แต่การเดินทางก็ไม่ใช่ว่าจะมุ่งไปจุดมุ่งหมายแต่เพียงอย่างเดียว ในระหว่างทางเองก็อาจมีจุดหมายปลายทางย่อยๆ อีกหลายเป้าหมาย เช่น อยากจะแวะเที่ยวชมทิวทัศน์ที่นั่น แวะทานอาหารที่นี่ เป็นต้น

ดังนั้น การจะทำให้ทริปนี้ประสบความสำเร็จได้ ต้องมีการเตรียมการและกระบวนการบางอย่างที่จะช่วยให้ทริปการเดินทางนี้สามารถดำเนินต่อไปได้จนกระทั่งถึงจุดหมายของการเดินทาง

นอกจากนี้ก่อนจะออกเดินทางก็อาจต้องซื้อประกันการเดินทางเผื่อว่าเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง จะได้ไม่ทิ้้งภาระไว้ให้คนที่อยู่ข้างหลังด้วย

ชีวิตของคนเราก็เช่นเดียวกัน จุดหมายปลายทางของทริปการท่องเที่ยวทางไกลนี้ก็เปรียบเสมือนเป้าหมายเกษียณของเรา ส่วนกระบวนการระหว่างทางนั้นก็ประกอบไปด้วย การจัดการสภาพคล่อง หนี้สิน เก็บเงินสำรอง ส่วนเป้าหมายย่อยๆ ก็อาจจะเป็น การเก็บเงินเรียนต่อ เก็บเงินแต่งงาน เก็บเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ ค่าเล่าเรียนบุตร และการทำประกันก็เปรียบเสมือนการทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เพื่อปิดความเสี่ยงก่อนจะเปิดรับความเสี่ยงใหม่ๆ นั่นเอง

หลายๆ คนน่าจะพอเห็นภาพแล้วนะคะว่าการวางแผนการเงินนั้นคืออะไร ในทางทฤษฎี กล่าวไว้ว่า การวางแผนการเงินเป็นการวางแผนบริหารทรัพยากรเงิน ทั้งในด้านจัดหาและใช้จ่าย ให้สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตที่สูงขึ้น และมีความมั่นคงในชีวิต โดยใช้ควบคู่กับกระบวนการประเมินและปรับปรุงการดำเนินการ โดยแผนการเงินนั้นไม่ใช่แผนสำเร็จรูป แต่เป็นแผนเฉพาะที่เหมาะกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของแต่ละคนค่ะ.

ในทางปฏิบัตินั้น การจัดทำแผนการเงินมีขั้นตอนปฏิบัติดังต่อไปนี้

  1. สำรวจและประเมินฐานะการเงิน – ด้วยการจัดทำงบการเงินส่วนบุคคล
  2. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน – เป้าหมายที่ดีต้อง SMART (Specific, Measurable, Achievable, Realistic, Time-bound)
  3. จัดทำแผนการเงิน – ซึ่งจะระบุว่าจะมีวิธีการออม/ลงทุน อย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย
  4. ดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด – ต้องมีวินัยและความมุ่งมั่น
  5. ตรวจสอบและปรับแผนตามสถานการณ์ – อย่างน้อยทุกๆ 1 ปี.

จะเห็นว่า แผนการเงินไม่ใช่แผนที่ทำครั้งเดียวเสร็จ จะต้องมีการรีวิวแผนอย่างน้อยทุกปี เพื่อตรวจสอบว่าปัจจัยต่างๆ ยังคงเดิมหรือมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น มีรายได้มากขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ มีการใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ สถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างมาก หรือมีผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากกว่า ฯลฯ เพื่อที่จะได้ทำการปรับเปลี่ยนแผนให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ต่อไป.

อย่างที่บอกไว้ว่า เป้าหมายที่ไร้การวางแผนก็ไม่ต่างอะไรจากความฝันลมๆ แล้งๆ การจะไปถึงเป้าหมายจำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดีและเหมาะสม แต่หากมีเป้าหมาย แต่ไร้ซึ่งการปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด ผลลัพท์ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการไม่วางแผนเลย ฉะนั้น มาวางแผนการเงินกันนะคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *