รับมืออย่างไรในยุคน้ำมันแพง
รับมืออย่างไรในยุคน้ำมันแพง — จะเรียกว่าเป็นเคราะห์ซ้ำกันซัดหรือยังไง หลังจากที่พวกเราทุกคนต้องเผชิญกับโรคระบาด โควิด-19 กันมา 2 ปีกว่า บางคนได้รับผลกระทบมาก-น้อย แตกต่างกันไป มาถึงตอนนี้พวกเรากำลังเจอกับวิกฤติใหม่ นั่นคือ วิกฤติน้ำมันราคาแพงสุดโหด อันเป็นผลต่อเนื่องจากเหตุการณ์สงครามรัสเซียยูเครน ที่ยังไม่รู้ว่าราคาจะปรับเพิ่มขึ้นไปถึงจุดไหน เมื่อไหร่ วันนี้เลยมาชวนคุยกันเรื่องจะรับมืออย่างไรในยุคน้ำมันแพงผสมกับในมุมมองของการวางแผนการเงิน ค่ะ
ก่อนอื่นมาคุยเรื่องผลกระทบจากน้ำมันแพง ก่อนว่ากระทบกับชีวิตคนธรรมดาอย่างเราอย่างไรบ้าง
- คนที่มีรถส่วนตัว ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้น
- อาจต้องเจอการปรับขึ้นราคาค่าขนส่งสาธารณะ
- สินค้าในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่มากขึ้น
ในส่วนของ การจะรับมืออย่างไรในยุคน้ำมันแพง ก็อาจจะมีวิธีการดังนี้
- พยายามลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทน (แต่ก็ต้องทำใจกับระบบขนส่งสาธารณะในเมืองไทยกันหน่อยนะ)
- ตรวจเช็คสภาพรถยนต์ โดยเฉพาะลมยางให้เป็นนิสัย เติมลมยางให้เหมาะสม หรือช่วงนี้อาจเติมแรงดันให้สูงกว่าปกตินิดหน่อยเพื่อให้ประหยัดน้ำมันได้มากขึ้น (รถยนต์เล็กไม่เกิน 32 PSI, รถยนต์ขนาดกลางไม่เกิน 35 PSI และรถกระบะไม่ควรเกิน 40 PSI)
- การติดตามราคาน้ำมันและจับจังหวะในการเติมน้ำมัน ตรงนี้ก็อาจจะช่วยได้บ้างนิดหน่อยถ้าหากว่าใครจังหวะดี ก็อาจจะรอเติมในจังหวะประกาศลดราคา หรือหากวันรุ่งขึ้นประกาศขึ้นราคาก็รีบเติมน้ำมันไปซะ
- หากเดินทางในระยะไม่ไกล อาจใช้รถจักรยาน หรือจักรยานยนต์แทนการใช้รถยนต์ (แต่ใน กทม. อาจต้องแลกกับความเสี่ยงภัยที่สูงขึ้น ตรงนี้ต้องลองชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบกันดูให้ดีนะคะ) หรือจะใช้รถพลังงานไฟฟ้าแทนรถน้ำมัน (แต่ถ้ายังไม่มีก็ลงทุนกันหนักหน่อยนะ เพราะปัจจุบันราคาก็ยังสูงอยู่)
- ซื้อสินค้าที่ร้านใกล้บ้าน หรือซื้อของออนไลน์ เพื่อจะได้ลดการใช้รถยนต์เดินทางไปไกลๆ
วิธีการรับมือที่กล่าวมาข้างต้นถือเป็น วิธีการรับมือแบบ Active หรือเรียกว่า เป็นการรับมือเมื่อเกิดวิกฤติขึ้นแล้ว แต่ยังมีวิธีการรับมืออีกแบบหนึ่งที่เปรียบได้กับเป็นการรับมือแบบ Passive คือ การเตรียมการรับมือล่วงหน้าก่อนจะเกิดวิกฤติ ซึ่งได้แก่
- การเก็บเงินสำรองฉุกเฉินที่มากเพียงพอ (อย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน) ซึ่งโดยปกติเงินสำรองในส่วนนี้จะถูกนำมาใช้จ่ายกรณีเกิดเหตุการณ์วิกฤติฉุกเฉินขึ้นในชีวิต เช่น ตกงาน เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เป็นต้น ซึ่งเราสามารถ apply เงินในส่วนนี้มาใช้ในยามเกิด์วิกฤติน้ำมันแพงแบบนี้ได้เช่นกัน หากเรามีเงินสำรองส่วนนี้เก็บไว้ก็ช่วยให้อุ่นใจและพาให้เราผ่านวิกฤติไปได้ในระดับนึง
- การจดบันทึกรายรับ – รายจ่าย หลายคนสงสัยว่าทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร อันที่จริงการจดบันทึกรายรับ – รายจ่ายมีประโยชน์มากในแง่การนำข้อมูลมาใช้วางแผนงบประมาณล่วงหน้า ซึ่งโดยปกติแนะนำให้วางแผนล่วงหน้าไปประมาณ 6-12 เดือน ทำเป็นตารางรายรับ – รายจ่าย เพื่อที่จะได้รู้ว่าสภาพคล่องของเราจะยังอยู่ต่อไปได้ไหม ได้อีกนานแค่ไหน จะได้วางแผนรับมือได้ถูก
- หารายได้หลายๆ ทาง หลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่าในยุคนี้การมีรายได้ทางเดียวอาจไม่เพียงพอเสียแล้ว ถ้ามีโอกาสเราจึงควรหารายได้ทางอื่นๆ เสริมเพิ่มเติมจากรายได้หลัก ถ้าหากว่าเรายังไม่รู้ว่าควรเริ่มจากตรงไหน แนะนำว่าให้สำรวจตัวเองว่าเรามีความสนใจ ความถนัด หรือมีความชอบอะไร จากนั้นก็ลองค้นหาข้อมูลอาชีพเสริมจากตรงนั้น ยิ่งยุคนี้เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร การค้นหาข้อมูลย่อมไม่ใช่เรื่องยากอะไร และการหารายได้เสริมอาจไม่ได้หมายถึงการขายของเท่านั้น เราสามารถหารายได้จากการให้บริการหรือแก้ไขปัญหาบางอย่างให้กับคนบางกลุ่ม หา Pain Point ตรงนั้นให้เจอ
ด้วยวิธีการที่กล่าวไปแล้ว ถ้าหากทำได้ รับรองว่าชีวิตเราจะพร้อมรับกับทุกวิกฤติการณ์ที่ผ่านเข้ามาได้แน่นอน เป็นกำลังใจให้กับทุกคนค่ะ
ติดต่อ สอบถาม รับคำปรึกษา
Line @greatlifeadviser หรือคลิก https://lin.ee/Lq9D46f
Web https://greatlifeadvisor.com/