Skip to content
Home » เงินสี่ด้าน รายได้สี่แบบ

เงินสี่ด้าน รายได้สี่แบบ

เงินสี่ด้าน รายได้สี่แบบ

วันนี้จะมาชวนคุยเรื่อง เงินสี่ด้าน รายได้สี่แบบ ซึ่งเป็นองค์ประกอบขั้นแรกของการวางแผนการเงินส่วนบุคคล คือ การบริหารสภาพคล่องค่ะ การจะมีสภาพคล่องได้นั้น รายรับต้องมากกว่ารายจ่าย หลายๆ คนยังบริหารสภาพคล่องได้ไม่ดี ยังคงใช้เงินที่ได้มาแบบ “เดือนชนเดือน” หรือบางทีเงินไม่พอใช้ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา แบบนี้ในทางการวางแผนการเงินเรียกว่า ยังมีสภาพคล่องไม่ดี ซึ่งอันที่จริงแล้วเราสามารถวัดเป็นอัตราส่วนสภาพคล่องส่วนบุคคลของเราออกมาได้ว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งไว้จะอธิบายให้ฟังคราวหลังนะคะ

กลับมาที่เรื่องสภาพคล่องส่วนบุคคล ถ้าหากใครที่คิดว่าตัวเองยังมีสภาพคล่องที่ไม่ดี ให้ย้อนกลับมาดูที่ตัวแปรเพียงแค่สองตัว ก็คือ รายรับ (รายได้) และรายจ่าย (ค่าใช้จ่าย) เพียงเท่านั้นค่ะ การที่เราจะมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นได้นั้นมีเพียง 2 วิธีง่ายๆ คือ1️. การลดรายจ่าย และ2. การเพิ่มรายรับ

ในเบื้องต้นแล้วการลดรายจ่ายอาจจะเป็นวิธีที่ง่ายกว่า โดยการกลับมาสำรวจว่า รายจ่ายใดที่ไม่จำเป็นก็พยายามลดลงซะ แต่ถ้าท้ายที่สุด พยายามลดทุกรายจ่ายแล้ว สภาพคล่องก็ยังไม่เพียงพอ ก็เหลือเพียงทางเดียวที่จะสามารถทำได้ ก็คือการเพิ่มรายรับนั่นเอง

ในความเป็นจริงแล้ว การเพิ่มรายรับคือวิธีที่อยากแนะนำมากกว่าการไปลดรายจ่ายเสียอีก เพราะการมีรายได้หลายทาง ย่อมดีกว่าทางเดียวเป็นแน่ เพราะเมื่อเกิดวิกฤติใดๆ ที่กระทบเรื่องงาน อย่างน้อยก็ยังมีรายได้อีกทาง (หรืออีกหลายๆ ทาง) หลงเหลือ ถือเป็นอีกวิธีปิดความเสี่ยงของชีวิต

สำหรับรายได้นั้น จำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ Active Income หรือรายได้จากการทำงาน หากเราหยุดทำงานเมื่อไหร่ รายได้ส่วนนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น เช่น เงินเดือน โบนัส ค่าจ้าง ค่าคอมมิชชั่น เป็นต้น และประเภทที่ 2 คือ Passive Income หรือรายได้จากสินทรัพย์ เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ โดยที่รายได้จะเกิดขึ้นเองโดยที่เราไม่ต้องทำงานใดๆ เช่น เงินปันผลจากการลงทุนในหุ้นสามัญหรือกองทุนรวม เงินค่าเช่าจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

สำหรับแนวคิดในการสร้างรายได้อีกแนวคิดหนึ่งก็คือ ทฤษฎีเงินสี่ด้านของ โรเบิร์ต คิโยซากิ ซึ่งบอกเอาไว้ว่า เงิน 4 ด้านนั้นหมายถึงรายรับของคนเราที่มาจากช่องทาง 4 ช่องคือ1) E : Employee คือ ลูกจ้างทั่วไป เป็นบุคคลที่ทำงานในลักษณะลูกจ้างทั่วไปมีรายได้หลักมาจากเงินเดือนที่ได้รับจากบริษัทในแต่ละเดือน.2) S : Self – Employed คือ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก เป็นบุคคลที่ทำงานรูปแบบธุรกิจขนาดเล็ก เจ้าของธุรกิจส่วนตัว รายได้หลักมาจากผลประกอบการของกิจการส่วนตัวที่ตนทำงานอยู่. 3) B : Business Owner คือ เจ้าของธุรกิจ ผู้ที่มีธุรกิจเป็นของตนเอง มีระบบธุรกิจที่ดูแลตัวมันเองได้โดยที่ไม่ต้องเข้าไปบริหารจัดการมาก มีรายได้มาจากระบบธุรกิจที่เป็นเจ้าของอยู่.4) I : Investor นักลงทุน ที่ใช้เงินลงทุนในสินทรัพย์ต่าง โดยได้รายได้หลักๆ มาจากเงินปันผล ดอกเบี้ย และผลตอบแทนจากการลงทุน

ผู้คนฝั่ง ES (ลูกจ้างทั่วไปและเจ้าของกิจการส่วนตัว) ใช้ แรง + เวลา ทำเงิน หากวันไหนป่วยหรือหยุดทำงานไปรายได้จะลดหรือหายไปทันที ซึ่งก็คือ Active Income ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า

ส่วนคนฝั่ง BI (เจ้าของธุรกิจและนักลงทุน) ใช้ แรง + เวลา เพื่อสร้างระบบธุรกิจ โครงการลงทุน เพื่อให้ธุรกิจหรือการลงทุนที่สร้างขึ้นมาทำเงิน แม้ว่าวันหนึ่งเขาจะหยุดทำงานหรือล้มป่วยไป ระบบธุรกิจหรือการลงทุนที่สร้างไว้ก็ยังคงทำเงินตลอด แม้ว่าเขาจะไปทำงานไม่ได้ รายได้แบบนี้คือรายได้ที่เรียกว่า Passive Income นั่นเอง

ในการวัดความมั่งคั่งของบุคคลนั้น จะวัดกันที่สินทรัพย์ลงทุน ต้องมีมากกว่า 50% ของความมั่งคั่งสุทธิ ซึ่งหมายถึงบุคคลผู้นั้น มีสินทรัพย์ลงทุนที่สร้าง Passive Income ให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แม้ว่าจะไม่ได้ทำงานที่สร้าง Active Income เลยก็ตาม นั่นหมายความว่า นอกจากเราจะควรพยายามสร้างรายได้ให้ครบทุกด้านแล้ว สิ่งสำคัญคือเราควรสร้างรายได้ฝั่ง BI ให้มากพอที่สุด เพื่อที่จะเปลี่ยนชีวิตไปยังจุดที่เกิดความมั่งคั่งอย่างแท้จริง

ติดต่อ สอบถาม รับคำปรึกษาวางแผนการเงินส่วนบุคคล

Line @greatlifeadviser หรือคลิก https://lin.ee/Lq9D46f

Facebook https://www.facebook.com/greatlifeadvisor

Website https://www.greatlifeadvisor.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *